ประเทศไทย: ในฐานะประเทศที่มีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยต้องดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ประเทศไทย: ในฐานะประเทศที่มีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยต้องดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ - Civic Space

Protest against lese majeste laws, which are routinely used to stifle debate in Thailand, October 2021. Photo: PITTHARA KAEWKOR/ Shutterstock

เนื่องจากประเทศไทยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนมกราคม 2568 โดยมีวาระ 3 ปี พวกเราองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ลงนามตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงความมุ่งมั่นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ รวมถึงการดำเนินการปฏิรูปรัฐธรรมนูญของประเทศอย่างรอบด้านโดยไม่รอช้า  

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานหลักในองค์การสหประชาชาติที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยประเทศสมาชิกทั้ง 47 ประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามานั้นมีหน้าที่ในการปกป้องมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนอันเคร่งครัดและดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่นๆ ในสมาคมโลก ในช่วงการลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยได้ให้สัญญาหลายประการว่าจะปกป้องสิทธิมนุษยชนภายในประเทศ อาทิ การทบทวนกฎหมาย นโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการพูดคุยที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาสังคม ในเมื่อปัจจุบันรัฐบาลได้รับเลือกแล้ว รัฐบาลก็ควรรักษาคำมั่นสัญญาเหล่านั้นและทำให้มันเกิดขึ้นจริง 

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิบัติตามสัญญาข้างต้น รัฐธรรมนูญถูกร่างและประกาศใช้โดยขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม ให้ความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหาร และทำลายกระบวนการประชาธิปไตย 

 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจขัดขวางผู้ที่มาจากการเลือกตั้งในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สมาชิกคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมาชิกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐล้วนมาจากการแต่งตั้งภายในและผ่านการอนุมัติโดยสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ขั้วอำนาจฝ่ายรัฐบาลทหารจึงยังสามารถคงอำนาจเอาไว้ และเป็นการบังคับว่าพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นฝ่ายรัฐบาลนั้นเป็นฝ่ายเดียวกับตน มิเช่นนั้นอาจถูกยุบพรรคหรือตัดสิทธิอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น แม้ว่าพลเมืองไทยจะมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่เสียงของพวกเขาภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ก็แทบไร้ความหมาย 

 

รัฐธรรมนูญเอื้อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติอย่างกว้างขวาง เนื่องจากบัญญัติข้อห้ามที่กว้างและคลุมเครือเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์สาธารณะ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิที่กำหนดอัตราโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี โดยถูกใช้ดำเนิน สื่อ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมอื่นๆอยู่อย่างต่อเนื่อง ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่ามาตราดังกล่าวไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยยกเหตุผลที่กว้างและคลุมเครือ แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะขัดกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดเจนก็ตาม เพราะฉะนั้น กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงถือว่าอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 นี้เนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและ/หรือการชุมนุมโดยสันติไปแล้วไม่ต่ำกว่า 276 คน 

 

พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรครัฐบาลในปัจจุบัน เคยได้ให้คำมั่นสัญญาในหลายวาระและโอกาสว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กลับแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นจริง 

 

องค์กรที่ลงนามท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยในฐานะสมาชิกใหม่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติดำเนินการดังต่อไปนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 

  • รับประกันว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีความสอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ 
  • จัดการเลือกตั้งระดับประเทศเพื่อเลือกสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 
  • รับประกันว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ละเว้นหมวดหรือหัวข้อใดๆ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ครอบคลุม 
  • เอื้อให้เกิดการพูดคุยและการปรึกษาหารือที่เปิดกว้าง เท่าเทียม และมีความหมายตลอดทั้งกระบวนการร่าง โดยรับประกันว่าได้รับฟังเสียงทุกเสียง และ 
  • ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติ 

 

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามข้างต้นเพื่อแก้ไขวิกฤติการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศ และเราพร้อมเปิดรับการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนความพยายามในการนี้ 

 

องค์กรที่ลงนาม 

  • ARTICLE 19 
  • กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ Law Long Beach (LLB) 
  • EEC WATCH 
  • LAND WATCH THAI 
  • มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF) 
  • คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.) Northern NGO Coordinating Committee On Development (Northern NGO-COD) 
  • ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน Legal Advocacy Center for Indigenous Communities (LACIC) 
  • คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) Campaign Committee for People’s Constitution (CCPC) 
  • ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ Northern Activist Community (CAN) 
  • ไอลอว์ Internet Dialogue on Law Reform (iLaw) 
  • สหภาพคนทำงาน Workers’ Union 
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน THAI LAWYERS FOR HUMAN RIGHTS CENTER (TLHR) 
  • เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ Constitution Advocacy Alliance 
  • แลนเด้อ Landers 
  • Campaign Committee for People’s Constitution (CCPC) 
  • Constitution Advocacy Alliance (CALL) 
  • CIVICUS