ประเทศไทย: ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไรสร้างความกังวล

ประเทศไทย: ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไรสร้างความกังวล - Civic Space

27 ธันวาคม 2564

คณะรัฐมนตรีของไทย
ทำเนียบรัฐบาล
1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ ประเทศไทย

สำเนาถึง:  สมาชิกทุกท่านของสภานิติบัญญัติแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

อ้างถึง: ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … 

เรียน คณะรัฐมนตรี

พวกเราที่เป็นหน่วยงานของประเทศไทยและระหว่างประเทศซึ่งลงนามในจดหมายนี้ ได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ….(‘ร่างพระราชบัญญัติ’) พวกเราเป็นกลุ่มประชาสังคมที่ทำงานในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน และมีการดำเนินงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนหลายล้านคนในประเทศไทย

แม้ว่าพวกเราแต่ละองค์กรจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่พวกเราต่างมีความรู้สึกร่วมกันที่จะคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งมีข้อบทหลายประการที่จะทำให้องค์กรไม่แสวงหากำไรและสมาชิกขององค์กรเหล่านี้ ไม่เพียงต้องตกเป็นเป้าของมาตรการควบคุมจำกัดที่เข้มงวดจนเกินกว่าเหตุต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ หากยังต้องเผชิญกับการแทรกแซงโดยพลการอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีข้อบทหลายประการที่เป็นปัญหาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมาตรา 19, 20, 21, 25, 26 และ 27

มาตรา 19 และ 21 เสนอข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลโดยไม่มีเป้าประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจทำให้มีการใช้อำนาจโดยพลการได้ กฎหมายปัจจุบันทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลรัษฎากร หรือระเบียบว่าด้วยการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย ได้กำหนดระดับของความโปร่งใสไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะแล้ว โดยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจในการสอบสวนได้ หากจำเป็น

มาตรา 20  โดยรายการของข้อห้ามนี้มีเนื้อหากว้างขวางอย่างมาก และแทบจะครอบคลุมการดำเนินงานเกือบทั้งหมดขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศ  เนื้อหาของร่างนี้อาจอนุญาตให้มีการตีความตามอำเภอใจ และในประเทศที่มีประชากร 70 ล้านคนการดำเนินตามบทบัญญัติใดๆ เหล่านี้อาจเป็นได้อย่างง่ายดายและอาจใช้โดยพลการเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม การชุมนุมอย่างสันติและประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

โดยมาตรา 20 กำหนดว่า “องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม
(3) กระทบต่อประโยชน์สาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยสาธารณะ
(4) เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย
(5) เป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของบุคคลอื่น”

โดยรายการของข้อห้ามนี้มีเนื้อหากว้างขวางอย่างมาก และแทบจะครอบคลุมการดำเนินงานเกือบทั้งหมดขององค์กรภาคประชาสังคมในประเทศ ทั้งที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือโครงการพัฒนาแบบทวิภาคีและพหุภาคี ร่วมกับภาคประชาสังคมอื่น ๆ

นอกจากนั้น มาตรา 20 ยังไม่เคารพหลักการความถูกต้องตามกฎหมายของกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากการจัดทำร่างกฎหมายควรมีลักษณะซึ่งทำให้สามารถคาดหมายถึงผลลัพธ์ที่ตามมาได้ ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานและบุคคลสามารถกำกับดูแลพฤติกรรมของตนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้นได้

มาตรา 21 ปิดกั้นสิทธิความเป็นส่วนตัวบางประการที่องค์กรไม่แสวงหากำไรพึงมี ข้อกำหนดอย่างอื่นเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนต่างประเทศในมาตรา 21 มีลักษณะกว้างเกินไป และละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม ซึ่งรวมถึงความสามารถในการแสวงหาและมีแหล่งทุนและทรัพยากรที่ยั่งยืนทั้งจากภายในและระหว่างประเทศ

มาตรา 25, 26 และ 27 กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วน และอาจบั่นทอนกำลังใจของบุคคลและกลุ่ม ทำให้ไม่อยากเป็นผู้เข้าร่วมงานที่เข้มแข็งกับภาคประชาสังคมของไทย

หากมีการประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ตามร่างปัจจุบันที่มีเนื้อหากว้างขวางเกินไป น่าจะเปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและเป็นการปฏิบัติมิชอบ ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มประชาสังคมที่หลากหลายในระดับรากหญ้า ระดับประเทศ และระหว่างประเทศในประเทศไทยเท่านั้น แต่กฎหมายเช่นนี้ยังคุกคามต่อสถานะของไทย ในฐานะเป็นศูนย์รวมขององค์กรไม่แสวงหากำไรในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะอันหลากหลายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การทำงานเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลไทยสนับสนุนภาคประชาสังคมและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั้นสอดคล้องกับข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการปรับสมดุลและการพัฒนาภาครัฐของประเทศไทย เราตระหนักดีว่ารัฐบาลไทยมีหน้าที่ปกป้องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการในลักษณะที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีความเหมาะสม จำเป็น และปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐบาลในการประกันและ อำนวยความสะดวกในการเคารพสิทธิมนุษยชน

เราขอตั้งข้อสังเกตว่ากฎบัตรสหประชาชาติตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการส่งเสริม “การเคารพและการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน”

จากข้อกังวลที่ร้ายแรงข้างต้น เราถือว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทยในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานและพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนร่างพระราชบัญญัตินี้ทันที และยืนยันถึงพันธกรณีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่จะดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม และปฏิบัติให้เป็นผล ซึ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ

นอกจากนั้น หน่วยงานที่มีชื่อด้านท้ายยังเรียกร้องสมาชิกทุกคนของสภานิติบัญญัติแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สนับสนุนภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง หลากหลายและเป็นอิสระ และให้ต่อต้านร่างพระราชบัญญัติตามเนื้อหาที่เป็นอยู่ตอนนี้

ประการสุดท้าย เราขอกระตุ้นรัฐบาลไทยให้รับประกันว่าจะมีกระบวนการรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างโปร่งใสและสร้างสรรค์ โดยกำหนดกรอบเวลาอย่างเหมาะสมเพื่อให้สาธารณชน องค์กรไม่แสวงหากำไร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้อย่างจริงจัง อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ มากกว่าจะเป็นอันตรายต่อประชาชนในประเทศไทยและภูมิภาคนี้

ขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายนี้ เรายินดีที่จะปรึกษาหารือเรื่องนี้เพิ่มเติมกับรัฐบาลไทย และยินดีที่จะมีโอกาสเพิ่มเติมในการสนับสนุนรัฐบาล เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักการตามรัฐธรรมนูญของตนและพันธกรณีระหว่างประเทศได้

หมายเหตุ: ได้มีการเผยแพร่แถลงการณ์เกี่ยวกับข้อกังวลของ กลุ่มพันธมิตรเอ็นจีโอของไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และจดหมายร่วมที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติก่อนหน้านี้จาก กลุ่มเอ็นจีโอระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 International Centre for Not-for-profit Law ได้พิมพ์เผยแพร่บทวิเคราะห์ต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

  1. Amnesty International

  2. APCOM Foundation มูลนิธิแอ็พคอม

  3. ARTICLE 19

  4. Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)

  5. Asian Network for Free Elections (ANFREL) มูลนิธิอันเฟรล

  6. Campaign for Popular Democracy (CPD)

  7. Civicnet Foundation มูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม

  8. CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation

  9. Community Resource Centre Foundation มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

  10. Cross Cultural Foundation มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

  11. ENLAWTHAI Foundation มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

  12. Feminist’s Liberation Front เฟมินิสต์ปลดแอก

  13. Foundation for Labor and Employment Promotion มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

  14. Green South Foundation มูลนิธิภาคใต้สีเขียว

  15. Greenpeace Thailand กรีนพีซ ประเทศไทย

  16. Home Net Thailand Association สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย)

  17. Human Rights and Development Foundation (HRDF) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ)

  18. Human Rights Lawyers Association สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

  19. Law Long Beach กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตย

  20. Lawyers’ Rights Watch Canada

  21. Manushya Foundation มูลนิธิมนุษยะ

  22. Migrant Working Group เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

  23. Network of Indigenous Peoples in Thailand เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย

  24. NGO Coordinating Committee on Development (NGOCOD) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

  25. Non-Binary Thailand กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย

  26. Peace and Culture Foundation มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

  27. Rainbow Sky Association of Thailand สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

  28. Social Democracy Think Tank – Thailand

  29. Sustainable Development Foundation

  30. TEA Group กลุ่มโรงน้ำชา

  31. Thai Allied Committee with Desegregated Burma Foundation มูลนิธิร่วมมิตรไทยพม่า

  32. Thai Volunteer Service Foundation มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม

  33. The Northeastern Women’s Network เครือข่ายผู้หญิงอีสาน

  34. The Relative Committee of May 1992 Heroes

  35. The Southern Feminist’s Liberation – Thailand เฟมินิสต์ปลดแอก ณ ภาคใต้

  36. WeMove ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย

  37. เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธีวิถีสุข

  38. โครงการปฏิรูปการเกษตรและพัฒนาชนบท จังหวัดพิจิตร

  39. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและการพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดพิจิตร

  40. เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์(คสอ.)

  41. เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง

  42. เครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า จังหวัดกำแพงเพช

  43. เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล

  44. สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

  45. นางอังคณา นีละไพจิตร (Mrs Angkhana Neelapaijit)

  46. นายวันชัย พุทธทอง (Mr Wanchai Phutthong)

  47. น.ส.สุธาวัลย์ บัวพันธ์ (Miss Suthawan Buapan)

Posted In