ประเทศไทย: ยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR)

ประเทศไทย: ยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) - Civic Space

รูปภาพโดย Realframe

ARTICLE 19 กล่าวว่าการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ครั้งที่สาม ของประเทศไทยทำให้เห็นได้ชัดว่าต้องมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูล สิทธิในการประท้วง และสิทธิด้านดิจิทัลในประเทศไทย รัฐบาลไทยควรยอมรับข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้รับ ในการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งที่สาม และจัดลำดับความสำคัญของการนำไปปฏิบัติอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

David Diaz-Jogeix ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายโครงการของ ARTICLE 19 กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา ประชาคมนานาชาติได้เห็นรัฐบาลไทยใช้กฎหมายปราบปรามเพื่อระงับเสรีภาพในการพูด จำกัดสิทธิในการประท้วง และควบคุมบทสนทนาในพื้นที่ดิจิทัล การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือ UPR ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการทำให้ภาพลักษณ์ความเสื่อมถอยแบบดิสโทเปียดูดีขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องคว้าโอกาสนี้ไว้”

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 คณะทำงานของ UPR ได้ทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งที่ สามของประเทศไทยในวาระที่ 39 โดย UPR นั้นเป็นกลไกเฉพาะของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกของสหประชาชาติจะได้รับการทบทวนและให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของตน 106 รัฐได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 278 ข้อ และเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ

รายงาน UPR ของ ARTICLE 19 ได้กล่าวถึงภัยคุกคามที่สำคัญ 3 ประการต่อการแสดงออกในประเทศไทย ได้แก่ การจำกัดสิทธิในการประท้วง การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญา ในรายงานร่วมของ ARTICLE 19, Manushya, AccessNow และ ASEAN Regional Coalition to #StopDigitalDictatorship ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อสิทธิด้านดิจิทัลในประเทศไทย และได้มีการส่งข้อเสนอแนะในประเด็นเหล่านี้ทั้งหมดเพื่อการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยครั้งที่สาม

สิทธิในการประท้วง

ทั้งหมด 18 รัฐได้มีข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ไทยเคารพและปกป้องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับแก้กฎหมายที่ควบคุมสิทธิในการประท้วงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และข้อเสนอแนะในการงดเว้นการดำเนินคดีผู้ประท้วงอย่างสันติ ออสเตรียแนะนำให้ไทย ‘หยุดการใช้ข้อกล่าวหาทางอาญาที่มีโทษจำคุกสูงเกินไปต่อพลเรือนที่มีส่วนร่วมในการประท้วงอย่างสันติ’ เม็กซิโกเน้นย้ำถึงการคุ้มครองผู้เยาว์โดยเฉพาะในการใช้สิทธิในการประท้วง โดยเรียกร้องให้ไทย ‘หลีกเลี่ยงการกักขัง ผู้เยาว์ที่ใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ’

ประเทศไทยเผชิญกับการประท้วงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในปี 2563 และ 2564 โดยมีผู้ประท้วง รวมทั้งเด็กจำนวนมากที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ออกมาบนถนนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ การลาออกของนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการยุติการคุกคามและข่มขู่ผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ทางการไทยตอบโต้การประท้วงอย่างแข็งกร้าวด้วยคุกคาม ทำร้าย และขัดขวางผู้ประท้วงทุกวิถีทาง ตำรวจควบคุมฝูงชนได้สลายการชุมนุมด้วยกระบอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำ ส่งผลให้ผู้ประท้วงและนักข่าวได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้บังัคบใช้กฎหมายได้พยายามปฏิเสธการเข้าถึงสถานที่ชุมนุมประท้วง และมีการปิดเครือข่ายการคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมรวมตัวกัน

การดำเนินคดีกับผู้ประท้วงและผู้จัดงานประท้วงเป็นอีกกลวิธีของทางการไทยในการยับยั้งเสรีภาพในการชุมนุม ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2020 ถึงกันยายน 2021 มีการสอบสวนหรือตั้งข้อหาบุคคลอย่างน้อย 1,458 คนรวมถึงผู้เยาว์ 223 คนเนื่องจากการมีส่วนร่วมในการประท้วง ผู้นำการประท้วงหลายคนถูกตั้งข้อหาหลายครั้ง และต้องเผชิญกับการจำคุกหลายสิบปี

ในรายงานฉบับร่างการตอบรับ ประเทศไทยให้การสนับสนุนเพียง 6 ข้อจากข้อเสนอแนะทั้งหมด 18 ข้อเกี่ยวกับสิทธิในการประท้วง โดยที่เหลืออีก 12 ข้อยังคงรอการตอบกลับ ข้อเสนอแนะที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไทยนั้นรวมถึงการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมใหเสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ และพัฒนาความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมายในการเคารพสิทธิในการประท้วง

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

12 รัฐแนะนำให้ประเทศไทยทบทวนการใช้หรือปฏิรูปมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือบทบัญญัติการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทย ซึ่งห้ามไม่ให้มีการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีข้อเสนอแนะดังกล่าว ออสเตรีย เดนมาร์ก และฟินแลนด์ แนะนำให้ยุติหรือทบทวนการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อผู้เยาว์

มาตรา 112 เป็นหนึ่งในกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่รุนแรงที่สุดในโลก ในช่วงปลายปี 2020 หลังจากหยุดใช้ข้อหานี้มาเป็นเวลาสองปี เจ้าหน้าที่ได้เริ่มใช้มาตรานี้อีกครั้งเพื่อสอบสวนและตั้งข้อหาบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ถูกตีความอย่างกว้างขวางในอดีตและมีโทษรุนแรง แต่ละกระทงมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีและโทษปรับ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 ตำรวจไทยได้ทำการสอบสวนบุคคลอย่างน้อย 150 คนในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลายกรณีเหล่านี้ดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับขบวนการประท้วง บุคคลอย่างน้อย 34 คนที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยในการชุมนุม บุคคลอีก 68 คนถูกตั้งข้อหาจากการแสดงออกทางออนไลน์ ผู้ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 12 คนมีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ไทยไม่ได้แสดงเจตจำนงที่จะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรา 112 แต่อย่างใด ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศระบุว่าบทบัญญัติ “สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของประเทศที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูงจากคนไทยส่วนใหญ่” และให้เหตุผลว่ากฎหมายยังมีความจำเป็นเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นวันเดียวกับการรายงาน UPR ของประเทศไทย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2563 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นผู้นำการประท้วงจึงอาจถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานกบฏ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางอาญาที่มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ในร่างรายงาน UPR ฉบับวันที่ 12 พฤศจิกายน ประเทศไทยยังไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอแนะทั้ง 12 ข้อที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

กฎหมายหมิ่นประมาทอาญา

ในประเทศไทย การหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุก บทบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาทอาญาของไทยนั้นไม่จำเป็น เสี่ยงต่อการละเมิด และเป็นอันตรายต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เบลเยียม เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์มีข้อเสนอแนะให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทอาญา และออกกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องร้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน (SLAPPs)

กฎหมายหมิ่นประมาทอาญาของประเทศไทยนั้นไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมักใช้กับนักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้แจ้งเบาะแส ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทและบุคคลที่มีอำนาจได้เริ่มดำเนินคดีหมิ่นประมาทอาญาต่อบุคคลที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การละเมิดสิทธิแรงงาน การทุจริต และเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งความในคดีหมิ่นประมาทอาญาต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประเทศไทยยังไม่ได้ตอบสนองต่อข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาทอาญา แต่ได้รับทราบถึงข้อเสนอแนะของเบลเยียมที่เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ฯ หรือ SLAPP ในเดือนธันวาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติของประเทศไทยได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยการเพิ่มบทบัญญัติสองข้อ คือ มาตรา 161/1 และ 165/2 เพื่อป้องกันมิให้มีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้งสองมาตรานี้ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้พิพากษาไม่สามารถนกฎหมายสองมาตรานี้ไปใช้ได้ในคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่ไม่มีมูล

สิทธิทางดิจิทัล

มีข้อเสนอ 9 ข้อที่พูดถึงการปกป้องสิทธิทางดิจิทัล รัฐต่างๆ เรียกร้องให้ประเทศไทยปกป้องการแสดงออกทางออนไลน์ และทบทวน ยกเลิก หรือแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ลดช่องว่างทางดิจิทัล และออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยร่วงหล่นเข้าสู่ยุคเผด็จการดิจิทัล ด้วยนโยบายเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นและการใช้กฎหมายผิดเจตนารมณ์ โดยมุ่งเป้าไปที่การกำจัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองในพื้นที่ออนไลน์ ข้อกังวลด้านสิทธิทางดิจิทัลได้แก่การพังทลายของเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ออนไลน์ การขาดการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล การสอดส่องของรัฐและการละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ การควบคุมของรัฐที่เพิ่มขึ้นเหนือบริษัทเทคโนโลยี การล่วงละเมิด การข่มขู่ และการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และนักข่าวสำหรับกิจกรรมออนไลน์ของพวกเขา

ในร่างรายงาน UPR ประเทศไทยได้แสดงการสนับสนุนข้อเสนอแนะด้านสิทธิทางดิจิทัลสามข้อ รวมถึงการเรียกร้องให้ออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัล ส่วนที่เหลืออีก 6 ข้อเสนอแนะซึ่งอ้างอิงถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยและการคุ้มครองการแสดงออกทางออนไลน์ รัฐบาลไทยจะพิจารณาต่อไป

ARTICLE 19 เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การชุมนุมอย่างสันติ และสิทธิทางดิจิทัล และสนับสนุนให้รัฐไทยดำเนินการทันทีและมีประสิทธิภาพเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

“การโจมตีเสรีภาพขั้นพื้นฐานของไทยจะต้องยุติลง” ดิอาซ-ฮอร์เกซ์ กล่าว “ทางการไทยควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะระหว่างการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน UPR ของประเทศไทย และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

Posted In