ARTICLE 19 กล่าวว่าข้อเสนอของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ‘ข่าวปลอม’ จะยิ่งจำกัดสิทธิในทางดิจิทัลและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้เปิดเผยแผนในการออกกฎระเบียบใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะทำให้การควบคุมโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มของรัฐบาลมีความเข้มงวดยิ่งขึ้น และจะเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์มากขึ้นกว่าเดิม กระทรวงดิจิทัลฯ ควรละเลิกความพยายามเหล่านี้และเลือกใช้วิธีการอันเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้โซเชียลมีเดียและบุคคลอื่นๆ ที่มีความเห็นล่อแหลมหรือมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์
“บ่อยครั้งที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในการต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ ไม่ได้เกี่ยวกับการป้องกันภัยออนไลน์มากกว่าขยายการควบคุมของรัฐเหนือพื้นที่อินเทอร์เน็ต” แมทธิว บิวเออร์ หัวหน้าโปรแกรมภูมิภาคเอเชียของ ARTICLE 19 กล่าว “ในขณะที่เรายังไม่เห็นตัวร่างกฎกระทรวงที่ว่า แต่การกระทำและแถลงการณ์ล่าสุดของเจ้าหน้าที่รัฐได้สร้างความกังวลใจ”
วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประกาศแผนการปรับปรุงกฎกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพื่อจัดการกับการส่งต่อข้อมูลเท็จ กระทรวงดิจิทัลฯ คาดหมายว่าร่างกฎกระทรวงจะเสร็จสิ้นภายในเดือนนี้
ประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ ปรากฏขึ้นมาท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลในการต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณแนะนำศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมให้เพิ่มความเข้มงวดในการต่อสู้กับ ‘ข่าวปลอม’ วันที่ 18 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชาเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ วันที่ 27 พฤษภาคม ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสามชุดคือคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์การดูแลการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ คณะอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในวันที่ 8 มิถุนายน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษากฎหมายไทยและต่างประเทศว่าด้วยการกำกับดูแลโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่นทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก โดยเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ศึกษาการกำกับดูแลแพลตฟอร์มของประเทศอินเดียเป็นพิเศษ คำสั่งนี้สร้างความเป็นกังวลเนื่องจากมาตรการล่าสุดของอินเดียที่ว่านั้นละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย
ในขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ หรือหน่วยงานอื่นไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอกฎกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากนัก การแถลงของชัยวุฒิทำให้พอคาดหมายได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่ชัยวุฒิประกาศเกี่ยวกับกฎกระทรวงใหม่ใช้ภาษาที่สร้างความกังวล โดยเฉพาะประเด็นการเก็บข้อมูลที่วิ่งผ่านเครือข่าย ปลายเดือนที่แล้วชัยวุฒิอ้างว่ากระทรวงดิจิทัลฯ อาจออกข้อเรียกร้องให้การลงทะเบียนโซเชียลมีเดียต้องใช้ชื่อจริงและข้อมูลประจำตัว และยังกล่าวต่อถึงความเป็นไปได้ที่จะเรียกร้องให้บริษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ตั้งสำนักงานในประเทศไทย
ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำล่าสุดของเจ้าหน้าที่รัฐไทยชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่อาจจะถูกใช้ในการจัดการ ‘ข่าวปลอม’ จะเป็นวิธีการแบบไหนได้บ้าง วันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งให้เฟซบุ๊กและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นการเข้าถึงหรือถอดบัญชีเฟซบุ๊ก 8 บัญชีที่ถูกกล่าวหากว่าเผยแพร่ ‘ข่าวปลอม’ บัญชีเหล่านี้รวมถึงบัญชีของนักวิชาการไทยที่ลี้ภัยในต่างประเทศอย่างปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลสซึ่งปวินเป็นผู้ก่อตั้ง ทั้งสองบัญชีตกเป็นเป้าหมายภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปีที่แล้ว และเป็นหัวข้อในการ ฟ้องคดีต่อเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับบัญชีของนักข่าว แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชลล์ เป็นที่รับทราบกันดีว่าบัญชีเหล่านี้มีเนื้อหาในการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์ไทย
กฎกระทรวงที่ถูกเสนอใหม่นี้จะเพิ่มกลไกในติดตามและลงโทษ ‘ข่าวปลอม’ ที่ถูกให้นิยามอย่างหลวมๆ ทั้งที่มีกลไกจำนวนหนึ่งทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ในปี 2562 รัฐบาลไทยได้ตั้ง ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ ขึ้นและในปี 2563 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศถูกตั้งขึ้นเพื่อจับตาอาชญากรรมไซเบอร์ รวมถึง ‘ข่าวปลอม’ ด้วยเช่นกัน ประเทศไทยได้ใช้วิธีการแบบผสมผสานเพื่อจับตากิจกรรมในโซเชียลมีเดียทั้งบนเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ และแพลตฟอร์มอื่นๆ การใช้วิธีการต่างๆ ของไทยในการมุ่งเป้าไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวงล่าสุดนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลมากกว่าจะเป็นการตอบรับเพื่อแก้ไขคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น
และเมื่อกล่าวถึงประเด็นการเก็บและติดตามข้อมูลส่วนบุคคล ความเป็นไปได้ในการเก็บข้อมูลที่วิ่งผ่านเครือข่ายที่กระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวถึงได้สร้างความกังวลว่าจะมีการเข้าแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว ทั้งที่ประเทศไทยได้บังคับให้มีการลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยบัตรประจำตัวประชาชนหรือพาสปอร์ตอยู่แล้ว อีกทั้งในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เริ่มใช้ระบบจดจำใบหน้าพร้อมกับการลงทะเบียนซิมการ์ดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการมุ่งเป้าอย่างไม่ได้สัดส่วนไปที่กลุ่มชาติพันธุ์มาเลย์มุสลิมในพื้นที่ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของการเก็บข้อมูลทางชีวภาพอื่นๆ อีกด้วย แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลไทยจะบังคับให้บริษัทโทรคมนาคมและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเก็บและส่งข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างไรภายใต้กฎกระทรวงใหม่ แต่ข้อเรียกร้องในการจัดเก็บและส่งต่อข้อมูลนั้นจะเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาลในการควบคุมประชาชนและเสี่ยงต่อการลิดรอนการแสดงออก
ข้อเสนอของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ต้องการเห็นบริษัทโซเชียลมีเดียตั้งสำนักงานในประเทศไทยเป็นข้อเสนอที่น่ากังวลเช่นกัน ARTICLE 19 เคยกล่าวถึงข้อกังวลของการที่สำนักงานภายในประเทศต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล อันจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้พนักงานที่เป็นคนท้องถิ่น และทำให้รัฐบาลมีข้อต่อรองเหนือโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มมากขึ้น
และแม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการเรียกร้องให้มีการลงทะเบียนด้วยชื่อจริงจะถูกนำมาปฏิบัติจริงอย่างไร แต่เป็นที่รับรู้ว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ต้องการความร่วมมือจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการออนไลน์ที่เกี่ยวข้อง ข้อเสนอนี้ทำให้มีการตั้งคำถามถึงความเสี่ยงในการถูกลงโทษของแพลตฟอร์มที่ปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
ในแถลงการณ์ร่วมของปี 2560 สี่ผู้เชี่ยวชาญด้านเสรีภาพในการแสดงออกระบุว่า ‘การห้ามการส่งต่อข้อมูลบนพื้นฐานของการอ้างอย่างหลวมๆ ว่าข้อมูลนั้นเป็น ‘ข่าวปลอม’ หรือ ‘ข้อมูลที่เลือกข้าง’ นั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และการสั่งห้ามเหล่านี้ควร ‘ถูกยกเลิก’ ไปเสีย
ในรายงานปี 2556 ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติ ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการแสดงออกชี้ว่า ‘ข้อบังคับให้มีการลงทะเบียนด้วยชื่อจริงจะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐระบุตัวผู้แสดงความเห็นออนไลน์หรือผูกมัดการใช้โทรศัพท์เข้ากับบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้อย่างง่ายดาย และเป็นการกำจัดการแสดงความเห็นแบบนิรนาม’ ในปี 2558 ผู้รายพิเศษได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ‘การแทรกแซงความเป็นส่วนตัวเพื่อจำกัดเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกจะต้องไม่เป็นไปเพื่อแทรกแซงเสรีภาพในการมีความคิดเห็น และการแทรกแซงที่มีจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกนั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมาย มีความจำเป็น และได้สัดส่วน’ การปฏิเสธให้มีการแสดงความเห็นในลักษณะนิรนามนี้เสี่ยงที่จะจำกัดความสามารถของผู้ใช้โซเชียลมีเดียในการมีความคิดเห็นและในการมีส่วนร่วมในการแสดงออก
จากความกังวลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ควรล้มเลิกแผนในการออกข้อกำหนดที่จะจำกัดเสรีภาพอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และควรจะแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
“การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเป็นปัญหาที่มีอยู่จริงและเจ้าหน้าที่รัฐไทยมีสิทธิที่จะเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้น” แมทธิว บิวเออร์ กล่าว “แทนที่จะใช้นโยบายที่พึ่งพาการเซ็นเซอร์อย่างหนัก การติดตาม และการบังคับใช้โทษทางอาญาเพื่อหยุดการถกเถียงสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ และการปกปิดอันจะนำมาซึ่งการสร้างข้อมูลเท็จมากไปกว่าเดิม รัฐบาลไทยควรทำให้เกิดความโปร่งใส การส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล”