ในปีที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างแข็งขันเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ซึ่งนำโดยนักกิจกรรมรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปทางการเมือง สิ่งที่ผลักดันการชุมนุมเหล่านี้คือความคับข้องใจต่อรัฐบาลที่สนับสนุนโดยกองทัพและความรู้สึกโดยทั่วไปในหมู่เยาวชนว่าตนเองกำลังถูกลิดรอน ยิ่งกว่านั้น การยุบพรรคอนาคตใหม่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ลงคะแนนเสียงอายุน้อยในเดือนกุมภาพันธ์ และการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยในประเทศกัมพูชาในเดือนมิถุนายน เป็นการสุมไฟให้โหมแรงยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่การชุมนุมเติบโตขึ้นทั้งในแง่ตัวเลขและขอบเขต ผู้ชุมนุมได้กลั่นกรองข้อเรียกร้องออกมาโดยพุ่งไปที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ และการหยุดคุกคามและข่มขู่ผู้วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนั้น นักกิจกรรมและผู้ชุมนุมไทยนับพันคนยังเริ่มตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทย ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามออกจากบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
รัฐบาลไทย นำโดยอดีตผู้นำรัฐประหาร นายประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบโต้อย่างฉับพลันและรุนแรงต่อการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อโครงสร้างอำนาจเดิมนี้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมหลายร้อยคนด้วยกฎหมายหลายฉบับ แกนนำนักกิจกรรมบางคนตกเป็นผู้ต้องหาในหลายคดีและอาจถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี เจ้าหน้าที่ปิดกั้นการแสดงออกบนโลกอินเตอร์เน็ต โดยมีการขอความร่วมมือจากบริษัทสื่อโซเชียลให้ลบเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยสลายการชุมนุมด้วยกำลัง โดยมีการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาอย่างน้อยสองครั้งในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2563
ในปลายปี 2563 เจ้าหน้าที่ได้ปลุกกลยุทธ์เก่าที่ได้เลิกใช้ไปก่อนหน้านี้ อันได้แก่ การใช้มาตรการทางกฎหมายต่อปัจเจกบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา หรือที่รู้จักกันในชื่อกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อันโด่งดังของประเทศไทย ก่อนหน้านี้หลังปี 2561 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่รัฐได้ระงับการใช้มาตรา 112 เป็นการชั่วคราวในทางปฏิบัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองเชื้อพระวงศ์จากการดูหมิ่นดูแคลน อาฆาตมาดร้าย และหมิ่นประมาท
การกลับมาใช้มาตรา 112 สะท้อนถึงภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศ ในอดีต ข้อกฎหมายนี้เปิดช่องให้มีการตีความอย่างกว้างขวางและบรรจุบทกำหนดโทษที่รุนแรง โดยความผิดในแต่ละกรรมมีระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปีและโทษปรับ
ตั้งแต่วนที่ 24 พฤศจิกายน 2563 มีการใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยมาตรา 112 กับปัจเจกอย่างน้อย 59 คน รวมถึงแกนนำผู้ชุมนุมหลายคน เจ้าหน้าที่ใช้การข่มขู่ว่าจะใช้การดำเนินคดีด้วยมาตราดังกล่าวเพื่อระงับการปะทุของการถกเถียงสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เริ่มมีการเพ่งเล็งต่อการแสดงออกที่เฉียดแตะประเด็นกษัตริย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความคิดเห็นต่อตัวบทกฎหมายเองด้วย
รายงานสรุปชิ้นนี้จะพูดถึงภาระหน้าที่ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รายงานได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากการรายงานข่าว เอกสารทางราชการ และข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะอื่นๆ รวมถึงบันทึกของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมหลายคนอีกด้วย ต่อจากนั้น รายงานฉบับนี้จะวิเคราะห์การนำมาตรา 112 กลับมาใช้กับผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นรอบล่าสุด โดยเชื่อมโยงกับพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รายงานสรุปนี้จะปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย